แนะสิ่งที่ควรและไม่ควรทำเมื่อ สมศ. มาตรวจเยี่ยม ประเมินโรงเรียน

        เรียกได้ว่าหากจะมีการตรวจเยี่ยมประเมินโรงเรียนนั้น เหล่าบุคลากร คุณครูต้องเตรียมพร้อมทั้งเอกสารและวิธีการตอบสัมภาษณ์สุดวุ่น โดยวันนี้เรามีวิธีปฏิบัติตัวสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำเมื่อ สมศ.มาตรวจเยี่ยมโรงเรียน โดยอ้างอิงจากคุณ Atthaphon Chanshewe ซึ่งได้เผยแพร่ข้อเสนอแนะนำผ่านเฟซบุ๊ก

1.สมศ.รอบที่สี่ใช้วิธีการสัมภาษณ์อย่างเดียวใช่หรือไม่
คำตอบ คือ ไม่ใช่ สมศ. ยังใช้ 3 วิธีการเช่นเคย เพียงแต่จะเริ่มศึกษา SAR ของโรงเรียนก่อน จากนั้นเมื่อไปโรงเรียนแล้ว ก็จะเริ่มด้วยการสัมภาษณ์ ซึ่งถ้ายังไม่ได้คำถามที่ชัดเจน ก็จะเริ่มขอศึกษาเอกสารและสังเกต เพื่อให้ได้ข้อมูลเพียงพอต่อการพิจารณาตามประเด็นการประเมิน

2.ควรจัดเตรียมทำแฟ้มรายมาตรฐานเพื่อเพิ่มความสะดวกในการประเมินใช่หรือไม่
คำตอบ คือ ไม่ใช่ เพราะ สมศ. ถือว่าเป็นการตบแต่งข้อมูลเพื่อรองรับการประเมิน ซึ่งในรอบนี้แม้หาก สมศ. จะเรียกขอดูเอกสาร ก็จะเป็นเอกสารที่ต้องมีอยู่แล้วในการทำงานของผู้บริหาร ครู ผู้เรียน ไม่เน้นให้ต้องทำเอกสารอะไรมาให้ตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม ถ้าโรงเรียนไม่จัดแฟ้มมาตรฐาน จะเกิดความกังวลและวุ่นวายในการรับมือกรณีถูกขอดูเอกสาร ดังนั้น สิ่งที่โรงเรียนควรทำคือ จัดระบบข้อมูลสารสนเทศและเชื่อมต่อด้วยวิธีการจัดทำดรรชนี เพื่อสำรวจความพร้อมและมีข้อมูลที่ตรงประเด็นในหัวข้อการประเมินของ สมศ. เพราะพบว่าที่ผ่านมา โรงเรียนพยายามทำแฟ้มมาตรฐาน แต่ สมศ. ก็ดูเล็กน้อย หรือ ไม่ดูเอาเลย อันนี้โรงเรียนก็มักบ่น สมศ. ว่า อุตสาห์นั่งทำมาเป็นเดือน แต่ดูแค่นี้หรือ จริงๆแล้วก็อาจหมายถึง สิ่งที่โรงเรียนทำแฟ้มนำเสนอ ไม่มีข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ตรงประเด็นที่ สมศ. ต้องการ ดังนั้นทางออกคือ การเรียนรู้เพื่อจัดทำระบบการนำเสนอแบบดรรชนี ซึ่งจะตรงประเด็นและรู้ตนเองได้ดีมากๆว่า โรงเรียนมีความพร้อมในการประเมินและมีสิ่งที่ สมศ. ต้องการได้มาก น้อยเพียงใด

3.สมศ. จะมาประเมิน 3 วันใช่หรือไม่
คำตอบ คือ ใช่และไม่ใช่ หมายถึง กรณีสมศ.จะประเมิน 3 วัน หมายถึง โรงเรียนที่ยังไม่เคยประเมินกับ สมศ.และโรงเรียนที่ยังไม่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ส่วนโรงเรียนที่ไม่เข้าข่ายนี้ อยู่ที่ดุลยพินิจผู้ประเมิน ว่าจะเป็น 2 – 1 วัน ตามจำนวนประเด็นข้อมูลที่ชัดเจนหรือไม่ชัดเจนเป็นหลัก

4.โรงเรียนสามารถกำหนดมาตรฐานหรือใช้มาตรฐานของหน่วยงานต้นสังกัดหรือมาตรฐานที่สถานศึกษาประกาศใช้ได้ ใช่หรือไม่
คำตอบ คือ ใช่ สมศ. ไม่สามารถบังคับโรงเรียนให้ทำตามมาตรฐาน สมศ. แต่ สมศ.จะใช้การเปรียบเคียงและหาข้อมูลเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบคือ มาตรฐานที่หน่วยงานต้นสังกัด ทั้ง สพฐ. สช. มีจุดอ่อนที่ ปฐมวัย ประเด็นการประกันคุณภาพที่กำหนดให้โรงเรียน ไม่ครอบคลุมประเด็นการประเมิน สมศ. ดังนั้นความยุ่งยาก วุ่นวายจะเกิดขึ้น ตั้งแต่ สมศ. อ่าน SAR แล้วข้อมูลไม่ครบอคลุม ชัดเจนมากพอ จึงเป็นเหตุผลที่จะลงมาประเมินเพิ่มเติม 1 – 2 วัน หรือหากมาโรงเรียนแล้ว ผู้บริหารให้ข้อมูลไม่ชัดเจน ไม่เข้าใจ กระบวนการประเมินด้วยการศึกษาเอกสารและสังเกต ก็จะตามมา ยิ่งไม่ชัดเจนมากเท่าไหร่ ก็จะวุ่นวายมากเท่านั้น เป็นต้น

5.กรณีขอเลื่อนการประเมิน สามารถทำได้ ใช่หรือไม่
คำตอบ คือ มีทั้งใช่และไม่ใช่ กรณีไม่สามารถเลื่อนการประเมินได้ คือ สถานศึกษาไม่มีเหตุอันควรที่จะเลื่อน กล่าวคือ อยู่ในสถานะการณ์ปกติ และกรณีที่สามารถขอเลื่อนได้ มีเหตุสำคัญอยู่ 3 ประการ คือ
1. เกิดภัยพิบัติในพื้นที่
2. สถานศึกษาไม่มีผู้บริหารหรือรักษาการ ที่สามารถตัดสินใจใดๆได้
3. สถานศึกษามีกิจกรรมที่ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามภาวะปกติ

         โดยสรุป การประเมินจาก สมศ. รอบนี้ คือโอกาสที่ดี สถานศึกษาไม่ควรกังวลใจใดๆ แต่ตรงข้ามคือ สถานศึกษา ควรพยายามทุกทางที่จะให้ สมศ. เข้าประเมินโรงเรียนของตนให้ได้ เพราะจะเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ให้ สมศ. ประเมินความโดดเด่น เป็นเกียรติเป็นศรี เป็นการตลาดที่ดีดึงดูดความเชื่อมั่นของผู้ปกครองได้เป็นอย่างดี อีกทั้งการประเมินกับ สมศ. ไม่ควรจัดทำแฟ้มมาตรฐานใดๆ ที่ ไม่จำเป็น แต่ควรสำรวจตรวจสอบว่า มีเอกสารที่จำเป็นต้องการปฏิบัติงานครบถ้วนหรือไม่ และเตรียมการสัมภาษณ์ด้วยการซักซ้อมความเข้าใจในระบบงาน ระบบแผนพัฒนาคุณภาพ ระบบการประกันคุณภาพ ระบบการดำเนินงานตามหลักสูตรและการประเมินผล ระบบการพัฒนาศักยภาพครู ผู้เรียน ระบบการดูแลสภาพแวดล้อม ซึ่งทั้งหมดก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการทำงานปกติอยู่แล้ว และแม้ว่าเราจะไม่เข้าใจ ก็ถือโอกาสนี้เป็นโอกาสดี บอกความจริงกับ สมศ. เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือ นำไปสู่การแก้ไขในทางที่ดีขึ้น โดยไม่ต้องกลัวผลกระทบใดๆ อย่างที่ผ่านมานั่นเอง

ที่มา : www.onesqa.or.th ; เฟซบุ๊ก Atthaphon Chanshewe

#LearnEducation #LearningSolutionForAll