จับสังเกต ADHD นักเรียนของเราเป็นสมาธิสั้นรึเปล่า?

นักเรียนของเราเป็นสมาธิสั้นรึเปล่า จับสังเกต ADHD

จับสังเกต! นักเรียนของเราเป็นสมาธิสั้น (ADHD) รึเปล่า?  

เมื่อทำงานครูที่ต้องคลุกคลีกับนักเรียนเป็นประจำ คุณครูคงเคยได้ยินคำว่า อาการสมาธิสั้นหรือ ADHD ( Attention Deficit Hyperactivity Disorder) โดยในเด็กนั้น จะพบได้เวลาที่นักเรียนไม่ตั้งใจฟัง ขาดการควบคุมด้านการเคลื่อนไหว ยุกยิก ว่อกแว่กง่าย แต่นักเรียนเหล่านี้ แตกต่างจากเด็กที่ซนมากยังไงกันนะ มาดูกัน 

ADHD คืออะไร? 

เว็บไซต์โรงพยาบาลกรุงเทพอธิบายไว้ว่า โรคสมาธิสั้น (ADHD – Attention Deficit Hyperactivity Disorder) คือ ภาวะผิดปกติทางจิตเวชที่ส่งผลให้มีสมาธิสั้นกว่าปกติ ขาดการควบคุมการเคลื่อนไหว ทำให้มีลักษณะอาการซุกซน วอกแวกง่าย ไม่เคยอยู่นิ่ง เวลาที่พูดด้วยจะไม่ตั้งใจฟังและเก็บรายละเอียดไม่ค่อยได้ ขาดความรับผิดชอบ พบได้ค่อนข้างบ่อยในเด็กที่มีช่วงอายุระหว่าง 3 – 7 ปี แต่ในรายที่เป็นไม่มาก อาการจะแสดงออกชัดเจนกว่าในช่วงหลัง 7 ขวบขึ้นไป เพราะเป็นช่วงที่ต้องเข้าโรงเรียน มีงานและการบ้านต้องรับผิดชอบหลาย ๆ ชิ้นในเวลาเดียวกัน  มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและคุณครู รวมไปถึงการที่จะต้องรู้จักปรับตัวในการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นและการเข้าสังคม  

ดังนั้น คุณครูจึงเป็นหนึ่งในคนที่มีโอกาสดัจับสังเกตอาการสมาธิสั้นขอนักเรียนได้มากที่สุด โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เพื่อช่วยเหลือนักเรียนได้ขั้นตอนต่อ ๆ ไป โดยอาการสมาธิสั้นอาจจะฟังดูไม่อันตราย แต่ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและจิตใจของเด็ก ๆ ได้ในระยะยาว เช่น กระทบต่อการเรียน หรือ การเข้าสังคมของเด็ก โดยมีเพียงแค่ 15-20% ของคนที่เป็นโรคสมาธิสั้นเท่านั้นที่หายได้เอง และกว่า 60% ไม่หายขาด 

โดยเว็บไซต์ของโรงพยาบาลกรุงเทพได้ระบุอาการสมาธิสั้นอย่างละเอียดไว้ดังนี้ 

(A) หากเด็กมีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ต้องมี 6 ข้อ (หรือมากกว่า) ของอาการขาดสมาธิ ติดต่อกันเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน โดยที่อาการต้องถึงระดับที่ผิดปกติและไม่เป็นไปตามพัฒนาการตามวัยของเด็ก ได้แก่ อาการขาดสมาธิ (Inattention) คือ

  • มักไม่สามารถจดจ่อกับรายละเอียดหรือไม่รอบคอบเวลาทำงานที่โรงเรียนหรือทำกิจกรรมอื่น

  • มักไม่มีสมาธิในการทำงานหรือการเล่น

  • มักดูเหมือนไม่ได้ฟังสิ่งที่คนอื่นพูดกับตนอยู่

  • มักทำตามคำสั่งได้ไม่ครบ ทำให้ทำงานในห้องเรียน งานบ้าน หรืองานในที่ทำงานไม่เสร็จ (โดยไม่ใช่เพราะต่อต้านหรือไม่เข้าใจ)

  • มักมีปัญหาในการจัดระบบงานหรือกิจกรรม ทำงานไม่เป็นระเบียบ

  • มักเลี่ยงไม่ชอบหรือไม่เต็มใจในการทำงานที่ต้องใช้ความคิด (เช่น การทำการบ้านหรือทำงานที่โรงเรียน)

  • มักทำของที่จำเป็นในการเรียนหรือการทำกิจกรรมหายบ่อย ๆ (เช่น อุปกรณ์การเรียน)

  • มักวอกแวกไปสนใจสิ่งเร้าภายนอกได้ง่าย

  • มักหลงลืมทำกิจวัตรที่ต้องทำเป็นประจำ

 

 

 

(B) ต้องมี 6 ข้อ (หรือมากกว่า) ของอาการอยู่ไม่นิ่ง – หุนหันพลันแล่น นานติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน โดยที่อาการต้องถึงระดับที่ผิดปกติและไม่เป็นไปตามพัฒนาการตามวัยของเด็ก ได้แก่

  • อาการอยู่ไม่นิ่ง (Hyperactivity)

  • หยุกหยิก อยู่ไม่สุข ชอบขยับมือและเท้าไปมา หรือนั่งนิ่ง ๆ ไม่ได้

  • มักลุกจากที่นั่งในห้องเรียนหรือในสถานการณ์อื่นที่เด็กจำเป็นต้องนั่งอยู่กับที่

  • มักวิ่งไปมาหรือปีนป่ายสิ่งต่าง ๆ ในที่ ๆ ไม่สมควรกระทำ

  • ไม่สามารถเล่นหรือทำกิจกรรมอย่างเงียบ ๆ ได้

  • มัก “พร้อมที่จะวิ่งไป” หรือทำเหมือนเครื่องยนต์ที่เดินเครื่องอยู่ตลอดเวลา

  • มักพูดมาก พูดไม่หยุด

  • อาการหุนหันพลันแล่น (Impulsivity)

  • มักโพล่งคำตอบโดยที่ฟังคำถามไม่จบ

  • มักไม่ชอบการเข้าคิวหรือการรอคอย

  • มักขัดจังหวะหรือสอดแทรกผู้อื่น (ระหว่างการสนทนาหรือการเล่น)

หากคุณครูสังเกคเห็นอาการเหล่านี้ควรติดต่อผู้ปกครองและผู้เชี่ยวชาญ รักษานักเรียนได้อย่างทันท่วงที 

 

โดยการรักษาและแก้โรคสมาธิสั้นนั้นสามารถทำได้ตั้งแต่ การปรับพฤติกรรมและกระตุ้นพัฒนาการเด็ก การกินยา การเรียนแบบตัวต่อตัว และการปรึกษาแพทย์อย่างต่อเนื่อง 

ที่มา Bangkok Hospital