ฝากลูกเข้าโรงเรียน “ดี เด่น ดัง” ปฏิกิริยาเร่ง (มะเร็งร้าย) สู่ตัวลูก

ผมตัดสินใจอยู่นานที่จะเขียนบทความนี้ แต่ด้วยความเป็นครูนักวิชาการ และผู้บริหารการศึกษา ซึ่งคลุกคลีศึกษา ค้นคว้า วิจัย และตีแผ่การศึกษาไทยมากกว่า 20 ปีเห็นว่าระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยตัดไม่ออกเสียเลย คิดว่าเรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องปกติใครๆ ก็ทำกัน จึงมิใช่เรื่องแปลก หากเพียงตัวผู้เขียนเองยังไม่เคยใช้วิธี“การฝาก” สำหรับตนเอง และครอบครัว ตอนลูกเล็กๆ ผมขับรถไปส่งลูกเรียนนอกเมือง 10 กม. ที่ชอบโรงเรียนนี้เพราะสถานที่กว้างขวาง สะอาดมีพื้นที่สีเขียวมาก ในส่วนวิธีการเรียนรู้ ผมจะเติมเต็มให้ลูกเองบ้างในบางโอกาส ในส่วนสถานศึกษาระดับมัธยมเมื่อลูกโตขึ้นให้เขาตัดสินใจ และเลือกสอบเข้าเรียนเอง เพราะผมมองด้านลบหรือปัญหาที่จะเกิดกับลูกหลานเรามากกว่าหากตัดสินใจแทนลูกหรือฝากลูกเข้าโรงเรียน ดีเด่น ดัง ต่าง ๆ เหล่านั้น

        เด็กไทยส่วนใหญ่ไม่ชอบเรียนรู้อยู่แล้ว เพราะครอบครัว พ่อแม่ ไม่เข้าใจ อาจโชคร้ายมาเจอโรงเรียน ยุค 4.0 ชอบเด็กดีเด็กเก่ง คัดเด็กห้องพิเศษเข้าเรียนโรงเรียนดีเด่น ดัง แทบจะประคบประหงมอย่างดี เพราะสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียน แต่ปฏิเสธนักเรียนอีกหลาย

         คนที่ไม่สามารถเข้าเรียนได้เพราะขาดโอกาส และความพร้อมที่จะเรียน ทำให้นักเรียนที่ถูกคัดออกค้นหาตนเองไม่เจอ พากันโดดเรียน หนีเรียน จริงๆ แล้ว เด็กกลุ่มนี้ไม่ได้โง่ แต่เขาไม่พร้อมที่จะเรียนเท่านั้นเอง ด้วยเหตุผลปัญหาชีวิต สังคม และหลากหลายประการ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดเป็น“ปมดำ” ในใจเด็ก ทำให้ขาดแรงฮึดและใฝ่ดี

         ผมขอยกตัวอย่างลูกของญาติใกล้ชิด และลูกของเพื่อนที่รู้จักกัน ที่ยอมจ่ายแป๊ะเจี๊ยะเข้าโรงเรียนดัง แต่ผลสำเร็จกลับตรงข้าม รายแรกพ่อเป็นผู้จัดการบริษัทใหญ่เงินเดือนเป็นแสน มีลูกชาย 2 คน คนโตเรียนดี เข้าโรงเรียนดังได้จบมาเป็นเจ้าของกิจการส่วนตัว ลูกชายคนเล็กสอบเข้าไม่ได้โรงเรียนดังใน จ.เชียงใหม่ พ่อยอมจ่าย 2 แสน แต่ครูโรงเรียนนี้อาจไม่เหมาะกับเขา จึงเกเรไม่อยากเรียน เรียนไม่จบ ตอนพ่อแม่มีชีวิตอยู่ฝากทำงานก็ไม่รอด หมดบุญพ่อแม่เลี้ยงตนเอง แทบไม่ได้เพราะปัญหาคิดไม่เป็น ไม่อยากเรียน เรียนไม่ทันเพื่อน ค้นหาตนเองไม่เจอ จะกลับไปเรียนตอนนี้ก็สายเกินที่จะแก้ไข รายที่ 2 พ่อแม่เป็นครูพ่อเป็นผู้

         อำนวยการโรงเรียน มีลูก2 คน พ่อแม่สอนลูกคนอื่นได้ดีมากฝากลูกตนเข้าเรียนตั้งแต่อนุบาลถึงมหาวิทยาลัย ลูกอยากได้อะไรหาให้หมด สุดท้ายลูก 2 คนเรียนไม่จบ

        ติดยา พ่อแม่ต้องเสียเงิน แก้ไขปัญหาให้ลูกๆ ปัจจุบันยังวนเวียนมาเบียดเบียนขอเงินบำนาญพ่อแม่ใช้อยู่ประจำ รายที่ 3 พ่อเป็นนายอำเภอแม่เป็นครูมีลูกสาวฝาแฝดน่ารักมากตอนเด็กๆ แม่จับแต่งตัวให้เหมือนกันเวลาไปไหนมาไหน เข้าโรงเรียนเดียวกัน ฝากเข้าโรงเรียนดังประจำจังหวัด แต่ที่พ่อแม่ไม่ได้ศึกษาลูกตนเองเลยคือทั้ง 2 คน ชอบไม่เหมือนกันคนหนึ่งชอบเรียนคนหนึ่งชอบเล่น ในที่สุดคนหนึ่งเรียนเก่งสอบเข้ามหาวิทยาลัย

ได้คณะดีเด่น ดังได้อีกคนหนึ่งติดยาถึงขั้นกับติดคุกติดตะราง พ่อแม่ต้องทุกข์ใจตลอดเวลา

         อุทาหรณ์จาก3 ครอบครัวนี้เราคงไม่อยากให้เกิดกับครอบครัวของเรา หากเรายังไม่เข้าใจปรัชญาการจัดการศึกษา กระบวนการหรือวิธีการเรียนรู้ที่ทำให้เด็กทุกคนสำเร็จได้ตามศักยภาพของเขา และครูก็ควรสอนให้ตรงกับจริตของเขา อยากให้ลูกท่านเก่งอย่า

        ถามหาโรงเรียนที่สุดยอด แต่ควรตามหาหรือตามไปเรียนกับครูที่สุดยอดมากกว่า สมองของมนุษย์ถูกออกแบบมาให้เก่งทุกคน “เด็กทุกคน เก่งทุกราย แต่เก่งคนละด้าน” เก่งไม่เหมือนอย่าเอามาแข่งกัน กว่าตนเองจะเปลี่ยนความคิดของครูนักเรียน ที่สถานศึกษาได้ต้องใช้เวลาตั้งหลายปีแต่การจะเปลี่ยนกรอบและวิธีคิดของผู้ปกครองเป็นสิ่งที่ยากยิ่ง เพราะฐานคิดของผู้ปกครอง คือ อยากให้ลูกเรียนเก่ง ได้เป็นเจ้าคนนายคนไม่น้อยหน้าลูกคนอื่น ลืมมองด้านเสียที่จะเกิดกับบุตรหลานของตนเอง ว่าจะมีผลดีผลเสียหรือผลกระทบอย่างไรบ้าง

        จากการเก็บสถิติปัญหาพฤติกรรม “เด็กฝาก” ที่มีอยู่ในสถานศึกษาของตนเองทุกๆ ปียังปฏิเสธไม่ได้ 100% เพราะระบบพี่น้อง เพื่อน และนาย หรือระบบนี้ยังไม่หายจากเมืองไทย ส่วนใหญ่พบว่า เรียนไม่ทันเพื่อน ชอบโดดเรียน หนีเรียน ไม่ชอบเข้าแถว และทำผิดกฎระเบียบของสถานศึกษาบ่อยๆ บางคนถึงกับต้องย้ายสถานศึกษา เพราะสถานศึกษาเป็น ”โรงฝึกประชาชน” ถ้าไม่ยอมให้ฝึก(เรียนรู้) ก็ส่งให้ที่อื่นฝึกต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานศึกษาที่กำหนดหลักสูตรหรือลู่วิ่งให้เหมาะสมกับนักเรียนรายบุคคล เช่น รร.อบจ.เชียงราย

         มีลู่วิ่งหลักสูตรให้เลือกถึง 14 ลู่วิ่งหลักสูตร มีตั้งแต่ห้องเก่งจนถึงห้องเด็กเกเร เพราะเราได้มีการคัดกรองด้วยการสอบสัมภาษณ์หรือวัดแววสู่อาชีพต่างๆ ของนักเรียนแล้วทั้งหมดทั้งมวลใช่ว่าสถานศึกษาจะปฏิเสธนักเรียน แต่อยากเห็นลูกหลานเราทุกคนเรียนแล้วสำเร็จมีความสุข จบมามีงานทำ ซึ่งคนมีชีวิต จิตใจ อ่อนไหว และไวต่อความรู้สึก จึงทำให้การเรียนรู้ต้องไม่ใช้แบบ ”เสื้อโหล” ใส่เหมือนกันเพราะฝากลูกเข้าโรงเรียน “ดี เด่น ดัง” ปฏิกิริยาเร่ง (มะเร็งร้าย) สู่ตัวลูก 

         “การให้เด็กใส่เสื้อโหล และเดินเข้าสถานศึกษา (โรงงาน) เดียวกันทั่วประเทศ จึงมีบางคน “สำเร็จ” บางคน “ล้มเหลว” หากความล้มเหลวไม่เกิดกับบุตรหลานเราก็ถือว่าโชคดีแต่หากเกิดขึ้นจะต้องมานั่งทุกข์ใจทั้งชีวิต… “

ดร.ศราวุธ สุตวงค์ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการสอนคิดและผู้อำนวยการโรงเรียน อบจ.เชียงราย : ผู้เขียน

#LearnEducation #LearningSolutionForAll