เทคโนโลยี AI จะแทนที่ครู ?

“เทคโนโลยี AI” จะแทนที่ครู ?

          ในเมื่อโจทย์ใหญ่คือ การสร้างคนและสังคมเมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกส่วนของการใช้ชีวิต ไม่เว้นแม้ในด้านการศึกษา หลายคนอาจมองว่า AI จะเข้ามาแย่งงานมนุษย์ แต่ในฐานะครู ซึ่งเป็นกำลังหลักในการพัฒนาการศึกษา ภายใต้โจทย์ใหญ่ของการสร้างคน และ สร้างสังคม จึงเป็นไปไม่ได้เลยว่าหุ่นยนต์จะมาทำหน้าที่ตรงนี้แทนได้ แต่ขณะเดียวกัน หน้าที่สำคัญของครู คือ การสามารถนำเทคโนโลยีต่างๆ ที่มี มาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนให้มีความหลากหลายและเชื่อมโยงสู่โลกอนาคต
ถ้าถามว่า “AI มาแทนที่ครูได้หรือไม่?” คำตอบคือ “AI ไม่สามารถแทนครูได้ทั้งหมด”

          ธานินทร์ ทิมทอง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสร้างประโยชน์และคุณค่าทางสังคม ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด กิจการเพื่อสังคมด้านการศึกษาในไทย กล่าวถึงการศึกษาในโลกอนาคตว่า “เราต้องย้อนไปที่โจทย์ของการศึกษาว่ามันคืออะไร โจทย์ใหญ่ก็คือ การสร้างคน และการสร้างสังคม ซึ่งการสร้างคนแน่นอนว่าทำอย่างไรให้คนเป็นคนดีและมีคุณภาพ สร้างสังคม คือ สังคมที่อยู่มีความปกติสุข อยู่ร่วมกันได้ และเอื้ออาทรกัน พอโจทย์เป็นแบบนี้ หลายๆ คนมองว่า โลกอนาคตมี AI เข้ามา มันต้องเปลี่ยนรูปแบบไปทั้งหมด ผมคิดว่ามันไม่ถึงขนาดนั้น เพราะอย่างไรในการเรียนการสอน ถ้าเราบอกว่า ความรู้อย่างเดียว เดี๋ยวเทคโนโลยีมาแทนได้ อันนี้ผมค่อนข้างเห็นด้วย เพราะความรู้มันกระจัดกระจายและหาได้หมด ถ้าใช้เครื่องมือเป็น หาความรู้ได้แน่นอน แต่สิ่งจำเป็นที่ต้องมีอยู่ ก็คือ “คุณครู”

          คุณครู เป็นคนสำคัญในการสร้างบุคลิกภาพ ปลูกฝังความคิดดีๆ ให้กับนักเรียนและบุตรหลาน พอพูดถึง การเรียนการสอนในโลกอนาคตและมีโจทย์สำคัญแบบนี้ เราจึงคิดว่ามันต้องมี3 ส่วนสำคัญ ทั้งในเรื่องของความหลากหลาย การเรียนการสอนในยุคที่เราผ่านมานั้นมี 2 รูปแบบ ครูสอนอยู่หน้าชั้น มาเล่าให้ฟังและเฉลยโจทย์กับรูปแบบที่สองคือครูติดธุระแล้วให้เพื่อนที่เก่งๆ มาบอกให้เราจดตาม และเราก็จดตามกันจนดินสอแทบจะกุด แต่รูปแบบนั้น สำหรับเด็กยุคใหม่ มันทำไม่ได้ต้องมีความหลากหลาย มีกิจกรรมและกระบวนการ เครื่องไม้เครื่องมือใหม่ๆ เข้ามาผสมในการเรียนรู้มากขึ้น ต้องมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้นนี่คือความสำคัญอันดับแรก

          อันดับถัดไปคือ ความเชื่อมโยง หลายๆ คนคิดว่าจะเรียนเลขไปทำไม ย้อนไปตอนเด็กๆ เราตอบไม่ได้เราตอบได้แค่ว่าพ่อแม่ส่งให้เรียนก็ต้องเรียน ตั้งใจให้เต็มที่ แต่เด็กสมัยนี้หรือสมัยถัดไป ถ้าเขาไม่รู้ว่ามันมีคุณค่า ไม่รู้ความหมายว่ามันสำคัญต่อชีวิตเขาอย่างไร การเรียนรู้มันจะไม่สุด เขาก็จะเรียนไปอย่างนั้น ดังนั้นการเรียนการสอนในยุคถัดไปต้องเชื่อมโยงกับอนาคตเขา

          สิ่งสุดท้าย การสร้างความเป็นมนุษย์เราอย่าลืมว่าบุคลิกภาพของคนและวิธีคิดของคน เราต้องปลูกฝังั้งแต่เด็ก ทำอย่างไรให้เขาเป็นคนกตัญญูรู้คุณ ซื่อสัตย์สุจริต ฟังแล้วอาจจะแปลกใจว่ามันเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีตรงไหน เพราะผมคิดว่า เทคโนโลยีมันจะแทรกซึมเข้าไปใน 3 เรื่องนี้คือ ความหลากหลาย เอาเทคโนโลยีเข้าไปช่วยได้ไหม ส่วนความเชื่อมโยง ทำอย่างไรให้สื่อมันเข้าถึงและเด็กนึกภาพออกว่าจะเป็นประโยชน์กับเขาหรือแม้กระทั่งการสร้างจิตสำนึกต่างๆ ในการใช้เครื่องไม้ เครื่องมืออย่างเหมาะสมก็จะช่วยได้อย่าไปตั้งโจทย์ว่าเราต้องใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอนในอนาคต

ครูไทยต้อง “ปรับใจ” รอรับเทคโนโลยี

ธานินทร์ กล่าวถึงการปรับตัวของครูว่า ต้องปรับใจก่อน เพราะเรามีความเชื่อว่า ถ้าเราเปิดใจรับฟังมากพอ เราจะเห็นสิ่งที่ดีกว่า และเมื่อเราเปิดใจ เราจะหันหน้าไปยังทิศทางที่ถูกต้อง ความยาก ความท้าทายของสมัยนี้ คือ ทุกคนชอบพูดภาพไกลๆ เทรนด์ที่กำลังจะมาในอนาคต อันนี้จะหายไป อันนั้นจะเข้ามาแทน สิ่งที่ยากคือ เราต้องทำอย่างไร ถ้ารู้ว่าเทรนด์ในอนาคตจะมาแบบนี้ เราก็ค่อยๆ ทำไปทีละเล็กละน้อย ปรับตัวเข้าไป ผมเชื่อว่าทุกวันจะเข้าใกล้จุดมุ่งหมายมากขึ้น และถ้าในเชิงรูปธรรม การปรับตัวตรงนี้คือการปรับตัวอะไร ผมว่าการปรับตัวในเรื่องของการปรับกระบวนการเรียนการสอน และการปรับการใช้เครื่องมือที่เหมาะสมในห้องเรียน ให้กับเด็กๆ นี่เป็นตัวสำคัญ

#LearnEducation #LearningSolutionForAll