แนะเลี่ยง! 6 คำพูดที่ไม่ควรใช้กับลูก อาจไม่ส่งผลดี ทำร้ายจิตใจเด็ก

         เป็นที่แน่นอนว่า คำพูดและการกระทำของคุณพ่อคุณแม่มีผลต่อพัฒนาการและพฤติกรรม ทัศนคติต่อลูก ทั้งนี้หากมีบางคำพูดที่ไม่เกิดประโยชน์แถมยังกระทบต่อจิตใจลูกน้อย อาจส่งผลในแง่ลบได้ วันนี้เรามี ประโยคคำพูดที่แนะว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรพูดกับลูกหลานของท่าน เพราะอาจส่งผลต่อจิตใจนั่นเอง

1. “ลูกเป็นคนเห็นแก่ตัวจังเลย”
ธรรมชาติของเด็กอาจจะมีการหวงขนม ของกิน หวงของเล่น ไม่ได้เเบ่งให้คนอื่น คุณพ่อคุณแม่จึงอาจจะพลั้งปากพูดคำเช่นนี้ออกไป และส่งผลให้ลูกน้อยรู้สึกไม่ดี ซึ่งอาจจะเปลี่ยนคำพูด โดยลองสอนลูกแทนว่าเราสามารถแบ่งปันสิ่งนี้กับเพื่อนได้ และเพื่อนจะรู้สึกดีใจมากที่ลูกแบ่งให้ รวมถึงการทำให้ลูกเห็นบ่อยๆ เป็นตัวอย่าง ว่าคุณพ่อคุณแม่ก็แบ่งปันให้กันได้เป็นเรื่องธรรมดานั่นเอง

2. “ลูกไม่ได้รู้สึกแบบนั้นหรอก”
ไม่ควรใช้คำพูดในเชิงตัดสินการกระทำของลูก เพราะถึงแม้คำเหล่านี้อาจจะดูไม่ใช่คำที่ร้ายแรง แต่อาจส่งผลให้ลูกพูดคำตอบโต้กลับ เช่น หนูเกลียดพ่อ/แม่ , หนูไม่ผิด, หรืออื่นๆ ซึ่งเป็นปฏิริยาตอบกลับในแง่ลบ ทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีถามเพื่อช่วยอธิบายให้ลูกเข้าใจความรู้สึกของตัวเองมากขึ้นจะดีกว่า

3. “ลูกไม่น่าเกิดมาเลย”
แม้จะโกรธมากเพียงใด หรือลูกทำอะไรมาผิดเพียงใดก็ตาม แต่คำนี้เป็นคำที่ไม่ควรหลุดปากพูดออกไป เพราะจะเป็นคำที่ฝังติดอยู่ในใจลูกอย่างตลอดไปแน่นอน

4. “เร็วๆ หน่อยสิ”
แม้อาจจะเป็นชั่วโมงเร่งรีบเร่งด่วน คุณพ่อ คุณแม่อาจจะใช้คำพูดเร่งลูก ซึ่งคำเหล่านี้หากถูกใช้บ่อยๆ ครั้งอาจส่งผลให้เด็กเป็นคนขี้กังวล หรือลน นั่นเอง
โดยวิธีแนะนำ คุณพ่อคุณแม่ อาจหันมาทำกิจกรรม หาเกมสนุกๆ ทำแข่งกับลูกแทน เช่น ชวนกันแข่งใส่รองเท้า ใส่ถุงเท้า แข่งกันทำงานทำการบ้าน ใครเสร็จก่อนชนะ อาจเป็นวิธีที่ดีกว่าสามารถเร่งลูกน้อยได้และสร้างสัมพันธ์ต่อลูกด้วย

5. “เกิดอะไรขึ้นกับลูก ทำไมลูกทำแบบนี้”
จริงๆ จุดประสงค์ของพ่อแม่ ที่ถามเช่นนี้อาจจะมาจากความเป็นห่วงเป็นใย แต่ในบางครั้งหากเด็กกลัวที่จะเล่าจะทำให้เด็กกลัวกับคำถามเช่นนี้ โดยคุณพ่อคุณแม่อาจหันมาเล่าประสบการณ์ของตัวเองที่เคยทำเช่นกัน แลกเปลี่ยนกับลูกน้อย พร้อมด้วยน้ำเสียงเชิงบวก อาจจะทำให้ลูกน้อยรู้สึกดีมากกว่า

6. “ไม่เห็นมีอะไรน่ากลัวเลย”
ความกลัวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย อีกทั้งด้วยความที่ลูกยังเด็กอาจจะมีความรู้สึกกลัวสิ่งต่างๆ เพราะด้วยประสบการณ์ชีวิตยังไม่มากพอ ดังนั้นเมื่อลูกรู้สึกกลัว คุณพ่อคุณแม่ ไม่ควรที่จะพูดคำดังกล่าว หรือเพิกเฉยต่อสิ่งเหล่านั้น แต่ควรแนะนำว่าทำไมถึงกลัวสิ่งนั้น พร้อมทั้งอธิบายชี้แจง และแนะนำวิธีลดความกลัวของลูกน้อยไป ด้วยความใจเย็นจะส่งผลดีต่อเด็กมากกว่า

ที่มา : https://aboutmom.co/ , cnbc , bestlifeonline

#LearnEducation #LearningSolutionForAll