STEM Education กับบทบาทครูในยุคปัจจุบัน

         ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคงหนีไม่พ้นทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ที่ส่งผลให้การจัดการศึกษาทุกระดับเน้นให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาเกิดความคิดสร้างสรรค์คิดแก้ปัญหาแบบมีวิจารณญาณรวมทั้งการพัฒนาทักษะการสื่อสารการใช้เทคโนโลยีรวมไปถึงการเรียนในห้องเรียนและชีวิตจริง
        STEM Education เป็นหนึ่งในทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ที่คุณครูจำเป็นต้องสอนและนำมาประยุกต์ใช้ในห้องเรียนแต่จริงๆ แล้วกระบวนการคิดของ STEM Education อาจเป็นสิ่งที่คุณครูหลายๆ คนดำเนินการจัดการเรียนการสอนอยู่ประจำอยู่แล้วเพียงแต่จะเพิ่มอรรถรสในการสอนให้นักเรียนเกิดการเห็นภาพ ให้เกิดความเชื่อมโยง จึงจำเป็นต้องนำหลักของ STEM ที่เกิด
จากการบูรณาการระหว่างวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีวิศวกรรมและคณิตศาสตร์มาใช้เป็นแนวคิดเวลาสอน
ซึ่งอาจจะออกมาในรูปแบบสิ่งประดิษฐ์หรือกระบวนการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหา ให้นักเรียนสามารถนำไปใช้ได้จริงและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อไป
         อาจจะเริ่มต้นจากการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมในชุมชนท้องถิ่นบ้านหรือ แม้แต่ที่โรงเรียนแล้วใช้ทักษะการสังเกตเพื่อสอนให้เขาได้มองเห็นถึงปัญหาหรือสิ่งที่ควรพัฒนา แล้วให้เกิดการตั้งคำถาม หาคำตอบ และหาเป้าหมายในการทำ โดยใช้กระบวนการ STEM เป็นตัวช่วย เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มและมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
          คุณครูก็สามารถดำเนินการได้หลากหลายรูปแบบตามความพร้อมและสภาวะในขณะนั้น คุณครูอาจจะลุกขึ้นมารับบทบาทเป็นผู้นำโดยกำหนดประเด็นปัญหาให้นักเรียนหาวัสดุอุปกรณ์และวิธีการให้นักเรียนดำเนินการตามที่ครูวางแผนและออกแบบไว้ หรือคุณครูจะลดบทบาทตนเองลง กำหนดเพียงประเด็นกว้างๆ ไว้ให้แล้วให้นักเรียนหาทางออกแบบวิธีการของตนเอง ทำให้นักเรียนมีบทบาทมากขึ้น หรือแม้แต่ให้คุณครูเป็นเพียงผู้คอยช่วยเหลือและสนับสนุนโดยให้อิสระในทุกๆ ด้านกับนักเรียน
          สำหรับคุณครูการนำ STEM มาใช้สามารถยึดวิชาที่ตนเองสอนเป็นหลักแล้วออกแบบการเรียนรู้โดยนำวิชาอื่นๆ มาบูรณาการ เช่น ครูผู้สอนยึดวิชาที่ตนเองสอนแล้วพยายามนำวิชาอื่นๆใน STEM มาบูรณาการประกอบการสอนเพิ่ม หรือนำแบบอย่างของครูผู้สอนท่านอื่นๆ มาออกแบบร่วมกันตามแนวคิดSTEM โดยให้คะแนนนักเรียนร่วมกันกับครูท่านอื่นๆ เป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนสร้างชิ้นงานตามที่สนใจจะช่วยให้นักเรียนมีความรู้พื้นฐานในวิชาต่างๆ อย่างหลากหลาย
          คุณครูจึงไม่ต้องกังวลว่าถ้าครูจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดของ STEM นี้จะทำให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไม่ดีขึ้น เพราะการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้นำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันนั้นจะช่วยพัฒนาและส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะที่สำคัญในศตวรรษที่21ซึ่งจะส่งผลให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ที่เพิ่มขึ้นทั้ง Life Skill และทักษะวิชาการในขณะเดียวกัน.
ที่มา : http://www.Trainkru.com
#LearnEducation #LearningSolutionForAll